ลืม password | สมัครสมาชิก
วันที่: 2013-04-28 12:49:14.0view 35412reply 0
ว่ากันด้วยเรื่องของ "ธาลัสซีเมีย" ตอนที่ 1 ธาลัสซีเมีย คืออะไร เอาล่ะคะ... หลังจากที่เคยบอกไว้เมื่อนานมาแล้วว่าจะมารีวิวเรื่องนี้ให้อ่าน ตอนนี้พอมีเวลา (ไม่ใช่ว่างานเสร็จแล้ว แต่กำลังเบื่อๆ ขี้เกียจทำอ่ะนะ ... พอกไว้ก่อน) จะมาเล่าเรื่องนี้แล้วกัน แต่ว่าอย่างที่บอกว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนมากๆ ดังนั้นจะแบ่งย่อยๆ เป็นหลายๆ ตอนเพื่อจะได้ให้ทุกคนสามารถเข้าใจและนำไปใช้ได้เมื่ออ่านจบนะคะ ...... อ่านตามไปเรื่อยๆ ช่วงแรกๆ อาจจะมีเรื่องสงสัยเยอะหน่อย อย่าเพิ่งเบื่อกันก่อนนะ ถ้าอ่านจบคิดว่าน่าจะเข้าใจมากขึ้น ^^ ... สำหรับคุณหมอหลายๆ ท่านที่ติดตามเนื้อหาในเพจอยู่ ก็จะพยายามทบทวนและอัพเดตเกี่ยวกับ "ธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์" ให้นะคะ แต่ถ้าตอนไหนที่ basic เกินไปก็อาจจะข้ามไปอ่านตอนอื่นๆ ก็ได้นะ ไม่ว่ากัน *** ขอทำความเข้าใจก่อนว่า บทความนี้จะเน้น ธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองธาลัสซีเมียเท่านั้นนะคะ ... สำหรับคนที่เป็นโรคและแนวทางการรักษาโรคคงต้องยกให้เป็นหน้าที่ของกุมารแพทย์และอายุรแพทย์โรคเลือดซึ่งจะเชี่ยวชาญกว่าคะ *** .... ก่อนอื่น ก็ต้องมารู้ก่อนว่า "ธาลัสซีเมีย" คืออะไร - โรคธาลัสซีเมีย หรือโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นโครเลือดจางที่เกิดจากความผิดปกติของสารประกอบในเม็ดเลือดแดง เป็นความผิดปกติในระดับ gene คะ ซึ่งมีหลายชนิดและความรุนแรงหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับความผิดปกติในระดับ gene ของผู้ป่วยว่าเป็นแบบไหน ( gene คืออะไร ทบทวนในบทความตาม link นะคะ http://shopzeza.com/detailClubForum.do?clubId=430&clubForumMenuId=586&clubForumId=28187) .... ความสำคัญของโรคนี้อยู่ที่ไหน ทำไมเราถึงต้องรู้เรื่องนี้ -- ความสำคัญอยู่ที่ว่าโรคนี้เป็นโรคที่ "พบบ่อย" ในประเทศไทย (ถ้าไปอ่านตำราของทางตะวันตกจะเขียนเรื่องนี้น้อยมาก แม้แต่ใน Williams ที่เป็นตำรามาตรฐานของสูติ ถ้าจะอ่านเรื่องนี้แนะนำหนังสือของไทยคะ จะเขียนละเอียดกว่ามาก เพราะเราเจอบ่อย) นอกจากนี้ยังพบมากในประเทศเขตร้อนแถบทะเลเมติเตอร์เรเนียน ตะวันออกกลาง คาบสมุทรอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทั่วไปแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม นั่นคือ 1) คนที่มี gene ธาลัสซีเมียแฝงอยู่ เรียกว่า "พาหะ" นั่นคือ ไม่ได้เป็นโรค ไม่มีอาการ แต่สามารถ "ถ่ายทอด" gene ที่ผิดปกตินี้ไปยังรุ่นลูกได้ *** พบว่าในประชากรไทย มีผู้ที่มี gene แฝงของโรคนี้มากถึง 30-40% .... เยอะขนาดไหน ก็ลองคิดดูว่าทุกๆ 10 คนจะมีคน 3-4 คนที่เป็นพาหะของธาลัสซีเมียนั่นเอง 2) คนที่เป็นโรค - ก็จะมีอาการที่แตกต่างกันอย่างมาก ตั้งแต่ไม่มีอาการเลยจนดูไม่ออก มีอาการซีดเล็กน้อย ไปจนถึงซีดมากจนต้องได้รับเลือดทุกเดือน หรือรุนแรงที่สุดก็คือเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์ ถ้าเป็นชนิด alpha-thalassemia (อ๊ะๆ อ่านให้คุ้นๆ ไปก่อน ใจเย็นๆก่อน เดี๋ยวเขียนรายละเอียดเรื่อยๆ นะคะ) การรักษาให้หายขาดทำได้ด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดใหม่ ซึ่งไม่ง่ายเลย ต้องมานั่งหาเซลล์ต้นกำเนิดที่เข้ากันได้ ค่าใช้จ่ายก็สูงมากกกกกก (ห้ามถามว่ากินอาหารบำรุงหรือออกกำลังจะหายมั๊ย ... เพราะมันเป็นความผิดปกติระดับ gene ไม่งั้นจะให้ไปอ่านเรื่อง gene ใหม่ -*-) ดังนั้น การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาตามอาการ การแก้ปัญหาในปัจจุบัน จึงเน้นการป้องกันและควบคุมโรคด้วยการตรวจกรองพาหะธาลัสซีเมีย ในคู่สามีภรรยาซึ่งวางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังตั้งครรภ์ (แต่ในประเทศไทยคนที่จะตรวจเลือดก่อนแต่งงานและก่อนตั้งครรภ์น้อยมากอ่ะนะ ... เจอทีไรก็ท้องมาแล้วทุกที) เพื่อหาโอกาสเสี่ยงที่จะมีลูกเป็นธาลัสซีเมียแบบรุนแรง และให้การวินิจฉัยก่อนคลอดแต่เนิ่นๆ ถ้าพบก็ให้ทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อไม่ให้มีเด็กเกิดใหม่เป็นโรคหรือลดจำนวนเด็กที่จะเป็นโรคให้มากที่สุด (อย่างที่บอกว่ามันเป็นความผิดปกติของ gene ถ้าเป็นแล้วให้การรักษาในท้องไม่ได้นะคะ กินอาหารเสริมอะไรก็ไม่ช่วยนะ ... ย้ำมาก เพราะหมอเจอคำถามนี้บ่อยมากถึงมากที่สุด) ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้เป็นที่มาของการตรวจคัดกรองพาหะธาลัสซีเมียของคู่สมรสกัน ตอนต่อไป จะมาดูกันว่า "อาการ" ของโรคมีอะไรบ้าง ความผิดปกติระดับ gene ที่ว่าเป็นยังไง ถ่ายทอดได้ยังไง เราจะตรวจคัดกรองกันยังไง มีขั้นตอนอะไรบ้าง จะคำนวณโอกาสเสี่ยงยังไง ทีละตอนๆ นะคะ ^^ Admin หมอเมษ์ Credit pict - student.chula.ac.th