ถั่วเหลืองกับโรคมะเร็ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ http://thastro.org/pages/6140/ ถั่วเหลือง กับนมถั่วเหลืองเหมือนกันไหม? ถั่วเหลือง (soybean, soya bean) มีชื่อเรียกอื่นๆตามท้องถิ่น เช่น ถั่วแระ ถั่วพระเหลือง ถั่วแม่ตาย มะถั่วเน่า เฮ็กตั่วเต่า เป็นพืชล้มลุกในตระกูลถั่ว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า glycine max (l.) merr. และอยู่ในวงศ์ fabaceae เป็นพืชให้เมล็ด ซึ่งนำมาบริโภคในรูปแบบต่างๆ เช่น ถั่วแระ เป็นต้น หรือ นำมาทำเป็นแป้งแล้วปรุงเป็นอาหารชนิดต่าง หรือ นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ และเต้าเจี้ยว ดังนั้น ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง รวมทั้งน้ำเต้าหู้ จึงมีคุณสมบัติในด้านต่างๆ คล้ายคลึง ถั่วเหลืองมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร? ถั่วเหลือง เป็นอาหารมีประโยชน์มาก มีโปรตีนสูงเกือบเท่าน้ำนมวัว นอกจากนั้น ยังมีคาร์โบไฮเดรต มีไขมันชนิดดีสูง มีใยอาหารสูง มีวิตามิน เกลือแร่สูง จึงใช้เป็นอาหารเสริมได้ดี และในเด็กแพ้นมวัว และไม่สามารถบริโภคนมแม่ได้ ยังสมารถใช้สูตรอาหารจากถั่วเหลืองทดแทนได้ นอกจากนี้ยังมีสาร ไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogen) ซึ่งมีคุณสมบัติบางอย่างคล้ายกับฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนในผู้หญิง อย่างไรก็ตาม นมถั่วเหลือง เป็นอาหารเสริมที่ให้ประโยชน์มากในผู้ป่วยโรคมะเร็งซึ่งบริโภคอาหารได้น้อย หรือ แพ้นม หรือ มีอาการคลื่นไส้/อาเจียน หรือ เจ็บเวลากลืน/รับประทาน เพราะในปัจจุบัน เป็นอาหารที่หาง่าย เก็บรักษาง่าย ราคาไม่แพง และผู้ผลิตยังเพิ่มเติมสารอาหารมีประโยชน์ต่างๆลงในนมถั่วเหลืองสำเร็จรูป ถั่วเหลืองมีโทษไหม? มี รายงานว่า ในคนบางคน หรือในเด็กบางคนแพ้ถั่วเหลืองได้ (พบได้น้อยมาก) โดยเกิดผื่นคันภายหลังการบริโภค ในเด็กชายเมื่อบริโภคถั่วเหลืองในปริมาณสูงเป็นประจำ อาจมีเต้านมโตผิดปรกติ จากสารไฟโตเอสโตรเจน และในผู้ชายอาจมีผลต่อปริมาณของอสุจิได้ นอกจากนั้น มีบางการศึกษาระบุว่า การบริโภคถั่วเหลืองในปริมาณสูงเป็นประจำ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด สมองฟ่อ (ยังไม่มีการศึกษายืนยันชัดเจน) ในถั่วเหลืองที่เก็บไว้นาน เก็บไม่ดี เต้าหู้ หรือ เต้าเจี้ยว อาจมีการปนเปื้อนสารก่อมะเร็งอฟลาทอกซิน (aflatoxin) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งสำคัญ โดยเฉพาะมะเร็งตับ ดังนั้นในการบริโภค จึงควรต้องระมัดระวังในเรื่องความสะอาด และการปลอดสารก่อมะเร็ง การบริโภคถั่วเหลืองเป็นประจำป้องกันโรคมะเร็งได้ไหม? ในด้านเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง การศึกษาทางการแพทย์ในคน ยังไม่สามารถระบุได้แน่นอนว่า การบริโภคถั่วเหลืองเป็นประจำช่วยป้องกัน และ/หรือรักษาโรคมะเร็งได้ มีบางการศึกษาพบว่า การบริโภคถั่วเหลือง อาจลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย และโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงวัยยังมีประจำเดือน แต่อาจเพิ่มโอกาสเกิดโรคมะเร็งเต้านม ในหญิงวัยหมดประจำเดือนแล้ว ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากสารไฟโตเอสโตรเจนในถั่วเหลือง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษายืนยันชัดเจน ทำไมผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมจึงควรระมัดระวังการบริโภคถั่วเหลือง? ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม เป็นโรคมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมน เอสโตรเจน ฮอร์โมนนี้เป็นตัวกระตุ้นการเจริญเติบโต ลุกลาม ของเซลล์มะเร็ง และถึงแม้ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ในคนยืนยันในเรื่องนี้ แต่โดยทฤษฎี การบริโภคถั่วเหลือง ซึ่งมีสารไฟโตเอสโตรเจน อาจมีผลกระตุ้นเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนั้นยังมีการศึกษาในสัตว์ที่เป็นมะเร็งเต้านมพบว่า การบริโภคถั่วเหลือง มีผลต้านยาฮอร์โมนที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง ดังนั้นผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม และผู้ป่วยหญิงวัยหมดประจำเดือน จึงควรระมัดระวังในการบริโภคถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองไม่ให้มากเกินไป จนกว่าการศึกษาที่กำลังดำเนินอยู่ ยืนยันได้ชัดเจนถึงผลจากการบริโภคถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองใน ปริมาณสูงเป็นประจำ นอกจากโรคมะเร็งเต้านมแล้ว มีโรคมะเร็งอื่นอีกไหมที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน? นอกจากโรคมะเร็งเต้านมแล้ว โรคมะเร็งที่มีปัจจัยเสี่ยงจากฮอร์โมน เอสโตรเจน คือ โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก แต่การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและถั่วเหลืองยัง มีน้อยมาก แต่ควรระมัดระวังการบริโภคนมถั่วเหลือง/ผลิตภัณฑ์จากนมถั่วเหลืองไว้บ้าง เช่นเดียวกับในโรคมะเร็งเต้านม น่าจะได้ประโยชน์มากกว่าโทษ โรคมะเร็งต่อมลูกหมากเป็น โรคมะเร็งอีกชนิดที่สัมพันธ์กับฮอร์โมน เอสโตรเจน แต่ในทางกลับกันกับโรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก กล่าวคือ ฮอร์โมน เอสโตรเจน ช่วยหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากได้ ดังนั้น ในขณะนี้ จึงกำลังมีการศึกษาทางการแพทย์อย่างจริงจัง ถึงประโยชน์ทีผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะได้รับจากการบริโภคถั่ว เหลือง/ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง แต่ในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับยารักษาต้านฮอร์โมน ควรระวังการบริโภคถั่วเหลือง/ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง เพราะยังไม่มีการศึกษาว่า สารไฟโตเอสโตรเจนในถั่วเหลือง/ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง มีผลอย่างไรต่อยาต้านฮอร์โมนในโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยโรคมะเร็งบริโภคถั่วเหลืองได้ไหม? การบริโภคถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองในผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดอื่น ซึ่งไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงจากฮอร์โมน เอสโตรเจน ไม่มีผลกระทบต่อโรคมะเร็ง เพราะดังกล่าวแล้วว่า ถั่วเหลืองเป็นอาหารมีประโยชน์มาก เป็นแต่เพียงให้ระมัดระวังในเรื่องของความสะอาด และการปนเปื้อนสารก่อมะเร็งจากการเก็บรักษาถั่วเหลืองไม่ดี หรือจากการถนอมอาหาร เช่น จากการทำเต้าเจี้ยว เป็นต้น ดังนั้นผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่ควรระมัดระวังการบริโภคถั่วเหลือง กล่าวคือ ไม่ควรบริโภคในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง คือ ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม และผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เพราะเป็นโรคมะเร็งที่มีปัจจัยเสี่ยงจากฮอร์โมน เอสโตรเจน และผู้ป่วยซึ่งได้รับการรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนชนิดต่างๆ |
Previous | อาหาร 5 หมู่ หรือ 6 หมู่ ดีอ่ะครับ |
ต่อไป | บุหรี่ และสุรา กับโรคมะเร็ง |
|
|
|