วันที่: 2011-08-15 14:16:09.0view 38299reply 0
อาหารโปรไบโอติก พรีไบโอติก และซินไบโอติก กับโรคมะเร็ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ http://thastro.org/pages/14223/ สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งแห่งประเทศไทย ปัจจุบัน ทุกคนรวมทั้งแพทย์และโภชนากรได้ให้ความสนใจเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ (functional food) เป็นอย่างมาก เนื่องจากเชื่อว่า จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง และช่วยป้องกันโรคต่างๆร่วมทั้งโรคมะเร็งได้ ซึ่งทั้ง โปรไบโอติก พรีไบโอติก และ ซินไบโอติก จัดอยู่ในอาหารกลุ่มนี้ด้วย โปรไบโอติกคือ อะไร? มีประโยชน์ และโทษอย่างไรบ้าง? ตามเกณฑ์ขององค์การด้านอาหารและเกษตรของสหรัฐอเมริกา ( Food and Agriculture Organization, FAO) โปรไบโอติก (probiotic) คือ จุลชีพที่มีชีวิติ (สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ขนาดเล็กมากๆ ที่สำคัญ คือ แบคทีเรีย) ซึ่งเมื่อบริโภคในปริมาณเหมาะสม จะส่งผลให้มีสุขภาพที่ดี โดยปัจจุบัน ที่ยอมรับมีแบคทีเรีย ๒ ชนิดที่มีคุณสมบัติเป็น โปรไบโอติก ได้แก่ แบคทีเรียชนิด แลคโตบาซิลลัส (lactobacillus) และชนิด บิฟิโดแบคทีเรียม (bifidobacterium) ซึ่งแบคทีเรียทั้งสองชนิด ยังแบ่งเป็นอีกหลายสายพันธ์ย่อยๆ แต่มีเพียงบางสายพันธ์ย่อยเท่านั้นที่มีคุณสมบัติเป็น โปรไบโอติก ดังนั้น อาหารโปรไบโอติก คือ อาหารที่มีส่วนผสมของ โปรไบโอติก ซึ่งที่เราคุ้นเคย คือ นมเปรี้ยว และโยเกิร์ต โปรไบโอติก โดยทั่วไปเป็นแบคทีเรียประจำถิ่น (normal flora) ในลำไส้ใหญ่ของทุกคน ซึ่งในกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ของทุกคน มีแบคทีเรียประจำถิ่นหลากหลายชนิดรวมกันอยู่เป็นหลายๆล้านตัว คิดเป็นสัดส่วนมีสูงกว่าเซลล์ต่างๆในร่างกายถึง ๑๐ เท่า โดยมีอยู่น้อยกว่ามากในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก แต่มีอยู่มากมายในลำไส้ใหญ่ ซึ่ง การมีสุขภาพที่ดี ขึ้นกับสมดุลของแบคทีเรียเหล่านี้กับเซลล์เยื่อบุลำไส้ และกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย (ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการสร้างในบริเวณลำไส้ต่างๆ โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่) ประโยชน์ของโปรไบโอติก จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่า โปรไบโอติก ในปริมาณที่เหมาะสมได้สมดุล -ช่วยลดจำนวนของแบคทีเรียที่ก่อโรค -ช่วยกำจัดสารพิษต่างๆรวมทั้งสารก่อมะเร็ง -ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค โดยเฉพาะโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร โรคท้องเสียในเด็กอ่อน โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ -ช่วยลดการอักเสบในลำไส้ -ช่วยสร้างและช่วยการดูดซึมวิตามิน และเกลือแร่หลายชนิด เช่น วิตามิน เค (ช่วยการแข็งตัวของเลือด) และวิตามิน บี -ช่วยลดโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ -และอาจช่วยลดการดูดซึมไขมัน โคเลสเตรอล (cholesterol) โทษของโปรไบโอติก มักเกิดจากการได้รับ โปรไบโอติกจำนวนมากเกินไป หรือ ได้รับโปรไบโอติกในขณะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ในขณะได้ยาเคมีบำบัด หรือ ขณะมีเม็ดเลือดขาวต่ำ โปรไบโอติกเหล่านี้จึงอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ และมีรายงาน เป็นการติดเชื้อถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยทุกโรค รวมทั้งโรคมะเร็ง เมื่อจะบริโภคอาหารที่มีโปรไบโอติก ควรปรึกษา แพทย์/พยาบาลก่อน ซึ่งในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด และ/หรือ มีเม็ดเลือดขาวต่ำ แพทย์มักแนะนำ งดการบริโภคโยเกิร์ตและนมเปรี้ยวเสมอ นอกจากนั้น เมื่อบริโภคในปริมาณสูง ยังอาจเกิดโรคอ้วนจากการบริโภคอาหารไขมันปริมาณสูง พรีไบโอติก คืออะไร? มีประโยชน์และโทษอย่างไรบ้าง? พรีไบโอติก ได้แก่ อาหารซึ่งมีคุณลักษณะ เมื่อบริโภคแล้ว ไม่มีการย่อยสลาย และไม่ถูกดูดซึมในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก แต่จะถูกหมักให้ย่อยสลายโดยแบคทีเรีย โปรไบโอติกในลำไส้ใหญ่ ก่อให้เกิดสารต่างๆ ที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย โดยทั่วไป อาหารพรีไบโอติก คือ อาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) ชนิดเฉพาะซึ่งเรียกว่า โอลิโกแซคคาไรด์ (oligosaccharide) ซึ่งยังแยกเป็นชนิดย่อยๆได้อีกหลายชนิด ที่นำมาใช้บ่อย คือ ชนิด ฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ (fructooligosaccharide, FOS) และอินูลิน (inulin) อาหารพรีไบโอติก เป็นอาหารสร้างจากพืชทุกชนิด แต่แตกต่างกันในสายพันธ์ย่อยๆ และในปริมาณ ที่มีมากหรือน้อย โดยทั่วไปมักเป็นแป้งและน้ำตาลที่พืชสะสมไว้ในหัว ที่พบมีมากที่สุด คือในหัวของพืช ชื่อ ชิโครี (พืชถิ่นของทวีปยุโรป) นอกจากนั้น เช่น กล้วย หัวหอม ต้นหอม กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวบาเลย์ ข้าวสาลี และมะเขือเทศ พรีไบโอติกบางชนิดย่อย สามารถให้ความหวานได้โดยไม่ย่อยสลายเป็นน้ำตาลกลูโคส (glucose) จึงมีผู้น้ำมาผลิตทางอุตสาหกรรมเป็นสารให้ความหวานในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ประโยชน์ของอาหารพรีไบโอติก คือ ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงเช่นเดียวกับ โปรไบโอติก เพราะเป็นการเสริมประสิทธิภาพของโปรไบโอติก โทษของอาหารพรีไบโอติก องค์การอาหาร และยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drugs Administration, FDA) จัดอาหารพรีไบโอติกเป็นอาหารไม่มีอันตราย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อบริโภคในปริมาณสูง ซึ่งการหมักของอาหารเป็นสาเหตุให้เกิดแก๊สมากขึ้น จึงมีอาการปวด แน่นท้อง ท้องอืด หรือ บางครั้งท้องเสียได้ และที่สำคัญ คือ โรคอ้วนเช่นเดียวกับอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตอื่นๆ ซินไบโอติกคือ อะไร? มีประโยชน์และโทษอย่างไร? อาหารซินไบโอติก ได้แก่ อาหารซึ่งมีส่วนผสมทั้งของโปรไบโอติก และพรีไบโอติก รวมอยู่ด้วยกัน เพื่อเพิ่มการทำงานของโปรไบโอติก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาะสูงต่อสุขภาพ ดังนั้น ประโยชน์และโทษของอาหารซินไบโอติก จึงเช่นเดียวกับ อาหารโปรไบโอติก และอาหารพรีไบโอติก อาหารโปรไบโอติก พรีไบโอติก และซินไบโอติก ป้องกัน หรือ รักษาโรคมะเร็งได้ไหม? ปัจจุบัน การศึกษาทั้งหมดเรื่องอาหาร โปรไบโอติก พรีไบโอติก และซินไปโอติกกับโรคมะเร็ง ที่ให้ผลว่า สามารถป้องกัน หรือ ลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งได้ เป็นการศึกษาในห้องปฏิบัติการ และในสัตว์ทดลอง โดยการศึกษาในคนยังให้ผลไม่ชัดเจน เนื่องจากยังให้ผลขัดแย้งกันอยู่ และการศึกษาที่ให้ผลบวก ยังเป็นการศึกษาในกลุ่มคนจำนวนน้อยมากซึ่งไม่มีการสุ่มตัวอย่าง และยังมีระเบียบวิจัยที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นในปัจจุบัน การแพทย์จึงสรุปว่า ในคน อาหารทั้งสามกลุ่มยังให้ผลไม่ชัดเจนในการป้องกัน/ลดโอกาสเกิดโรคมะเร็ง ชนิดต่างๆ รวมทั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านม แต่ขณะนี้กำลังมีการศึกษาอย่างกว้างขวาง และจริงจัง โดยเป็นการศึกษาที่มีระเบียบวิจัยที่ได้มาตรฐาน และในจำนวนกลุ่มตัวศึกษาที่มากพอ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อให้ได้คำตอบในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ส่วนการนำอาหารทั้งสามกลุ่ม ใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง การศึกษาต่างๆให้ผลตรงกันว่า อาหารทั้งสามกลุ่มไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายได้ แต่บางการศึกษาให้ผลว่า อาจช่วยชะลอการย้อนกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ เมื่อบริโภคภายหลังครบการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว สรุป อาหารโปรไบโอติก พรีไบโอติก และซินไบโอติก เป็นอาหารที่มีการศึกษาสนับสนุนว่า เมื่อบริโภคในปริมาณเหมาะสม ไม่มากเกินไป ช่วยเพิ่มสุขภาพทั่วไปได้ในบางคน สำหรับการป้องกันโรคมะเร็งในคน ยังให้ผลไม่ชัดเจนต้องรอการศึกษาเพิ่มเติม แต่ที่แน่นอน คือ ไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายได้ นอกจากนั้น การบริโภค โปรไบโอติกเมื่อมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรค หรือ เม็ดเลือดขาวต่ำ อาจก่อการติดเชื้อจนถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคมะเร็งควรงดอาหารโปรไบโอติกเสมอในระหว่าง ได้ยาเคมีบำบัด และ/หรือเมื่อมีเม็ดเลือดขาวต่ำ ส่วนการบริโภคอาหารพรีไบโอติกปริมาณสูงอาจก่ออาการมีแก๊สในลำไส้มากกว่า ปรกติ ดังได้กล่าวแล้ว ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่ต้องการบริโภคอาหารกลุ่มต่างๆทั้ง ๓ กลุ่ม ควรปรึกษาแพทย์โรคมะเร็งก่อนเสมอ เพื่อได้รับคำแนะนำที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษา |
Previous | บุหรี่ และสุรา กับโรคมะเร็ง |
ต่อไป | รู้จักกันหรือยัง "กลูตาไธโอน" อ่ะดิ |
|
|
|