วันที่: 2014-12-25 13:32:35.0view 22658reply 0
น้ำมันปลา (Fish oil) คุณค่าที่คุณต้องทานทุกวัน
นักวิทยาศาสตร์เริ่มสนใจถึงประโยชน์ของ น้ำมันปลา (Fish oil) หลังจากการสำรวจใน ค.ศ. 1973 พบว่า ชาวเอสกิโม บนเกาะกรีนแลนด์ (Greenland Eskimos) มีอัตราการเกิดโรคหัวใจและข้ออักเสบต่ำมากทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มชนที่บริโภคอาหารประเภทไขมันสูง โดยแหล่งอาหาร คือ ปลาทะเล และแมวน้ำ ขณะที่คณะแพทย์เดนมาร์กรายงานผลการสำรวจออกมานั้นวงการวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าทำไมและเพราะเหตุใด นอกจากนี้คำว่าโรคหัวใจ (Heart Disease) ไม่มีในภาษาท้องถิ่นของชาวเอสกิโม บนเกาะกรีนแลนด์ อีกด้วย
ผลการศึกษาทางเคมีวิทยาต่อมาจึงพบว่า มีไขมันจากปลาหรือเรียกง่ายๆ ว่าน้ำมันปลาซึ่งประกอบด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated Fatty Acid) รวม 2 ตัว ชื่อ EPA (Eicosapentanoic Acid) และ DHA (Docosahexanoic Acid) ซึ่งอยู่ในปลาทะเล น้ำมันทั้งสองตัวเป็นตัวการสำคัญที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจให้กับชาวเอสกิโมที่กินสัตว์ทะเลเป็นอาหารหลัก จึงเรียกกรดไขมัน EPA และ DHA รวมกันว่า น้ำมันปลาหรือ Fish Oil และปลาที่จะให้ทั้ง EPA และ DHA ในปริมาณที่สูงก็คือปลาทะเลบริเวณน้ำเย็นๆ (Cold Water Fish)
ประโยชน์ของน้ำมันปลาที่รู้จักกันทั่วไป
Pepping และ Joseph รายงาน ผลการวิจัยเมื่อ ค.ศ.1999 ในวารสาร Journal of Health-System Pharmacy ว่า น้ำมันปลา (EPA และ DHA) มีบทบาทสำคัญในการป้องกันหลอดเลือดโดยเฉพาะที่ไปเลี้ยงในหัวใจ ไม่ให้มี การอุดตัน (Atherosclerosis) , โรคหัวใจวาย, โรคเศร้าซึม, โรคมะเร็ง, และในการศึกษาทางด้านโภชนาการบำบัดพบว่า กรดไขมันไม่อิ่มตัวในน้ำมันปลาให้ประโยชน์ในการนำไปร่วมใช้รักษาโรคได้หลายชนิดอีกด้วยเช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis), โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus), โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (Colitis) ฯลฯ (จาก American Journal of Clinical Nutrition Vol.71 มกราคม พ.ศ.2543 เรื่อง Importance of n-3 Fatty Acids in Health and Disease โดย Connor และ William) Alpha Linolenic Acid (ALA) และ Linoleic Acid (LA) คือ กรดไขมันจำเป็น
กรดไขมันไม่อิ่มตัว ALA (โอเมก้า 3) และ LA (โอเมก้า 6) นี้ถือว่าเป็นกรดไขมันจำเป็น (Essential Fatty Acid) เพราะร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเองไม่ได้ ต้องได้รับจากภายนอกคืออาหาร หรืออาหารเสริมเท่านั้น และเป็นกรดไขมันที่สำคัญร่างกายขาดไม่ได้ ถ้าบกพร่องจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย
กรดไขมันจำเป็น (EFA) นี้มีทั้งหมดเพียง 2 ตัว ด้วยกัน บางครั้งถือว่าเป็นวิตามินชนิดหนึ่ง ชื่อวิตามิน (F)
ALA คือผู้สร้างน้ำมันปลา (EPA และ DHA)
ตระกูลกรดไขมัน โอเมก้า 3 จะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวอยู่ตัวหนึ่งชื่อ ALA ทำหน้าที่เป็นตัวแม่ หรือสารตั้งต้น โดยตัวมันเองมีคาร์บอน 18 ตัว และเป็นคาร์บอนไม่อิ่มตัว 3 คู่ และสามารถสร้างกรดไขมันตัวที่ 2 ที่ชื่อ EPA ภายในร่างกายซึ่งมีคาร์บอนเพิ่มเป็น 20 ตัวใน 1 โมเลกุลและมีคาร์บอนไม่อิ่มตัว 5 คู่ นักโภชนาการกล่าวว่ากรดไขมันจำเป็น ALA นี้สามารถเปลี่ยนไปเป็น EPA ได้ตามหลักทฤษฏีก็จริง แต่ไม่เพียงพอสำหรับความต้องการใช้ของร่างกาย ยิ่งเป็นคนชรายิ่งเปลี่ยนไม่ได้เอาเลย จำเป็นต้องกินเพิ่มโดยตรงจากอาหารประเภทปลาทะเล หรือจากอาหารเสริมน้ำมันปลา กรดไขมัน EPA คือสารตั้งต้นในการสังเคราะห์กรดไขมัน DHA อีกต่อหนึ่ง เพราะ EPA มี 20 คาร์บอนต่อโมเลกุล ต้องยืดออกอีก 2 ตัว เพื่อเป็น 22 ตัวจึงเป็น DHA ได้ และเพิ่มคาร์บอนไม่อิ่มตัวอีก 1 คู่ คือจากที่มันมีอยู่เดิม 5 คู่กลายเป็น 6 คู่ เมื่อรวมแล้วจึงเกิดเป็นสารตัวใหม่คือกรดไขมัน DHA ความสำคัญของกรดไขมัน EPA คือให้สารเคมีคล้ายฮอร์โมนในกลุ่ม ไอโคซานอยด์ (Eicosanoid) ไอโคซานอยด์ เป็นชื่อกลุ่มสารเคมีที่มีคาร์บอน 20 ตัว ต่อ 1 โมเลกุล (20-Carbon Fatty Acid) มี คุณสมบัติคล้ายฮอร์โมน แต่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ และถูกทำลายค่อนข้างเร็วโดยเอนไซม์ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ไอโคซานอยด์ประกอบด้วยกลุ่มย่อยต่างๆ มีที่สำคัญ คือ กลุ่ม พรอสต้าแกลนดิน (Prostaglandin), กลุ่ม ทรอมบอกแซน (Tromboxane), กลุ่ม พรอสต้าไซคลิน (Prostacyclin), กลุ่ม ลิวโคทรีน (Leukotriene) เป็นต้น ประโยชน์ของน้ำมันปลาโดยสรุปก็คือ ผลดีจากการทำงานของกลุ่มไอโคซานอยด์ (PGE3) ที่ผลิตมาจาก EPA และการทำหน้าที่เชิงโครงสร้างของ DHA บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์นั่นเอง
ไอโคซานอยด์ (Eicosanoid) คืออะไร ประโยชน์และโทษ ของการบริโภคกรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fatty Acid) จากกลุ่ม โอเมก้า 3 และจากกลุ่ม โอเมก้า 6 ส่วนใหญ่เป็นผลที่เกิดจากปฏิกิริยาของกลุ่มสารเคมีที่มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมน (Hormone-Like) ที่เรียกว่าไอโคซานอยด์ ซึ่งถ้าสร้างโดยกรดไขมัน EPA จะได้พรอสต้าแกลนดินอี – 3 (PGE3) ในกลุ่มโอเมก้า 3, และถ้าสร้างโดยกรดไขมัน AA เรียก PGE2 ในกลุ่มโอเมก้า 6 กลุ่มไอโคซานอยด์ชนิดที่เกิดจากกรดไขมันโอเมก้า 3 คือ PGE3 โดย EPA จะมีคุณสมบัติทางเคมีตรงข้ามกับจากกรดไขมัน AA คือ PGE2 ที่มาจากกลุ่มไขมันโอเมก้า 6 โดยให้มีระบบการควบคุมซึ่งกันและกัน การที่ต้องกินปลาทะเลหรือน้ำมันปลาที่เป็นอาหารเสริมก็เพราะว่าเรามีโอกาสขาดหรือบกพร่องได้ง่ายมาก อันเนื่องมาจากสภาพสิ่งแวดล้อมและสังคมชีวิตความเป็นอยู่ (Life Style) อย่างในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงจากอดีต เมื่อประมาณร้อยปีที่ผ่านมา มนุษย์กินอาหารที่มีสัดส่วนกรดไขมันโอเมก้า 6 ต่อ โอเมก้า 3 โดยน้ำหนักเฉลี่ย 1 ต่อ 1 และไม่เกิน 2 ต่อ 1 แต่ผลงานวิจัยทางโภชนาการล่าสุดพบว่า เปลี่ยนเป็น 20 ต่อ 1 ถึง 50 ต่อ 1 อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาทำให้เกิดปัญหากับสุขภาพ เพราะกลุ่มไอโคซานอยด์จากกรดไขมันโอเมก้า 6 มีสูงมากเกินไป ถ้าไม่เพิ่มกลุ่มไอโคซานอยด์ชนิดที่มาจากกรดไขมันโอเมก้า 3 ให้เพิ่มสูงตามขึ้นไปด้วย จะทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้
ประวัติของไอโคซานอยด์ ใน ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) นักเคมีได้พิสูจน์ว่ากรดไขมันอแรกคิโดนิก (Arachidonic Acid หรือ AA) จากกลุ่มกรดไขมัน โอเมก้า 6 สามารถเปลี่ยนโครงสร้างได้โดยมีเอนไซม์บางชนิดช่วยทำปฏิกิริยาเคมีภายในร่างกายของมนุษย์ให้มาเป็นสารเคมีอีกชนิดหนึ่งซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ (Inflammation) และตั้งชื่อสารนั้นว่า พรอสต้าแกลนดิน (Prostaglandin) อีก 16 ปี ต่อมา (พ.ศ.2522) นักวิทยาศาสตร์จึงพบว่ากรดไขมันจากลุ่ม โอเมก้าต่าง ๆ (n-3, n-6) จะให้สารเคมีที่มีลักษณะเฉพาะในด้านชีววิทยา คือ มีคาร์บอนเป็นโครงสร้าง 20 ตัว ไม่ขาดไม่เกิน ได้เรียกชื่อสารกลุ่มที่มีคาร์บอน 20 ตัวต่อ 1 โมเลกุลดังกล่าวนี้ว่าไอโคซานอยด์ ไอโคซานอยด์ฝ่ายใดมากกว่า ก็จะเป็นฝ่ายชนะ ไอโคซานอยด์ ที่เกิดขึ้นมาจากกรดไขมันไม่อิ่มตัวในกลุ่มโอเมก้า นี้ ต้องอาศัยเอนไซม์ ที่เปลี่ยนกรดไขมัน EPA (โอเมก้า 3 หรือน้ำมันปลา) มาเป็น PGE3 ซึ่งมีคุณสมบัติระงับปวด ลดการอักเสบและขณะเดียวกันก็ช่วยเปลี่ยนกรดไขมัน AA (โอเมก้า 6) มาเป็น PGE2 ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบและสร้างความเจ็บปวดในบริเวณที่ PGE2 หลั่งออกมา ดังนั้นถ้า PGE3 ซึ่งระงับปวด ผลิตออกมาจาก EPA (โอเมก้า 3) มีมากกว่า คือ ชนะ PGE2 ตรงบริเวณที่ปวดก็จะทุเลา การอักเสบก็จะลดลงด้วย
ไอโคซานอยด์ทุกชนิดมีประโยชน์ PGE2 ถึงแม้จะสร้างการอักเสบบริเวณเฉพาะที่ ก็เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในการควบคุมเชื้อโรคไม่ให้กระจายออกไป เพราะมันออกฤทธิ์ในวงจำกัดและดึงดูดเม็ดโลหิตขาว (Leukocyte) ให้มาบริเวณที่มีการติดเชื้อเพื่อกำจัดเชื้อโรคอีกด้วย นักโภชนาการเตือนว่า ในปัจจุบันเนื่องจากหลายสาเหตุ พบว่าจะมีการบริโภคกรดไขมันโอเมก้า – 6 ปริมาณสูงกว่าปกติ ในบางกลุ่มประชากรกินไขมัน โอเมก้า 6 ต่อ โอเมก้า 3 ในสัดส่วนถึง 50 ต่อ 1 แทนที่จะเป็น 2 ต่อ 1 ทำให้ไอโคซานอยด์ที่ผลิตจาก โอเมก้า 6 มีระดับสูงมากเกินไป ตัวสำคัญของกลุ่มก็คือพรอสต้าแกลนดินอี 2 (PGE2) ซี่งทำให้เกิดความเจ็บปวดในเนื้อเยื่อเฉพาะที่, ปวดประจำเดือนรุนแรง โรคกระดูกข้อเสื่อม (Degenerative Disc Disease) เป็นต้น
ไอโคซานอดย์จากน้ำมันปลา การบริโภคน้ำมันปลาแล้วมีประโยชน์ต่างๆ ก็เพราะ EPA จากน้ำมันปลาสร้างไอโคซานอยด์ สารที่มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนออกมา โดยคุณสมบัติต่างๆ ของมัน เป็นตัวทำประโยชน์ให้กับสุขภาพของร่างกาย และให้เป็นคำอธิบายถึงคุณสมบัติของน้ำมันปลา (Fish Oil) ตามหลักวิชาได้ว่า น้ำมันปลามีฤทธิ์อย่างนั้นอย่างนี้ และเกิดขึ้นได้เพราะอะไรและอย่างไร ซึ่งที่จริงคือปฏิกิริยาเคมีของไอโคซานอยด์นั่นเอง PGE2 จาก โอเมก้า 6 มักเกิดขึ้นมีสัดส่วนมากเกิน PGE3 จาก โอเมก้า 3 ทำให้มีปัญหาต่อสุขภาพ การผลิต PGE2 ถือว่าให้ผลเสียมากกว่าผลดี มันได้มาจากกรดไขมัน AA ซึ่งเป็นพวกโอเมก้า 6 แต่ PGE3 เป็นพรอสต้าแกลนดินที่มาจากกรดไขมัน EPA จะให้คุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพ จึงตรงข้ามกับ PGE2 แต่ในร่างกายเรามักมีการสังเคราะห์ PGE2 ออกมามากกว่า PGE3 โดยเหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนใหม่ เช่น มีการกินอาหารแบบฝรั่ง ทำให้มีการบริโภคกรดไขมันโอเมก้า 6 สูงกว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 (น้ำมันปลา) หลายสิบเท่า เมื่ออัตราส่วนของการบริโภคโอเมก้า 6 ต่อ โอเมก้า 3 (หรือน้ำมันปลา) สูงเกินกว่ามาตรฐาน ย่อมทำให้เกิดผลเสีย เราจึงต้องแก้ไขโดยกินปลาทะเล หรือน้ำมันปลา (Fish Oil : EPA+DHA) เป็นอาหารเสริมให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อสุขภาพของร่างกาย เพราะมีความเป็นไปได้และง่ายกว่าความพยายามที่จะลดการบริโภคกรดไขมันโอเมก้า 6 (กรดไขมัน AA)ลงมา คำว่าน้ำมันปลา (Fish Oil) หมายถึงอาหารเสริมชนิดหนึ่ง ประกอบด้วย กรดไขมัน EPA และกรดไขมัน DHA รวม 2 ตัว ซึ่ง EPA และ DHA หรือน้ำมันปลานี้เป็นส่วนหนึ่งของน้ำมันโอเมก้า 3 มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนว่า อาหารที่อุดมด้วยน้ำมันปลาจะบำรุงสมองให้มีสุขภาพดี เห็นได้จากสมองของมนุษย์จะประกอบด้วยกรดไขมันในตระกูลน้ำมันปลาคือ DHA และ EPA เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวที่สำคัญคือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวชื่อ DHA
กรดไขมันโอเมก้า 3 และกรดไขมันโอเมก้า 6 ทั้งสองตัวนี้จะพบอยู่ในเยื่อหุ้มเซลล์ ซึ่งทำให้ตัวเซลล์เองสามารถยืดหยุ่นได้ ไม่แข็งกระด้าง เลือดสามารถนำพาสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ รวมทั้งเซลล์สมองได้ดี โดยยอมให้สารอาหารต่างๆซึมผ่านเยื่อบุผนังเซลล์หรือเข้าออกได้สะดวก นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า น้ำมันปลาโดยเฉพาะ DHA เป็นสารอาหารที่จำเป็นของสมองเพราะเยื่อหุ้มเซลล์สมองต้องมี DHA พอเพียง และการบกพร่อง DHA จะทำให้เกิดโรคได้
น้ำมันปลาชนิด DHA ทำให้ความจำดี กรดไขมัน DHA ซึ่งเป็นสารประกอบตัวหนึ่งของน้ำมันปลา (อีกตัวคือกรดไขมันEPA) จะทำหน้าที่บำรุงสมอง โดยการทำให้เยื่อหุ้มเซลล์สมองแข็งแรงแต่อ่อนโยน มีผลให้การติดต่อสื่อสารระหว่างเซลล์สมอง (Neuron) ด้วยกันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สมองจะคิดและคำนวณได้ว่องไว รวมทั้งความจำดีขึ้น มีการศึกษาในผู้สูงอายุโดยให้กลุ่มตัวอย่างกินปลาทะเลเกือบทุกวัน พบว่า จะช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมเนื่องจากความชราได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เด็กซึ่งได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 ประเภทน้ำมันปลาพอเพียง จะมีสติปัญญาสูงโดยวัดเปรียบเทียบด้วยค่า IQ (ไอคิว) และมีผลงานวิจัยยืนยันว่า ความเฉลียวฉลาดจะเริ่มภายหลังบริโภคน้ำมันปลาได้เพียง 2 ชั่วโมงขึ้นไปเท่านั้น ดังนั้นถ้าจะช่วยสมองเด็กให้ปราดเปรื่องตอนสอบไล่ ก็ควรให้กินโอเมก้า 3 (หรือน้ำมันปลา) ในเวลาเช้าพร้อมอาหาร สมองของคนชราก็มักจะขาดกรดไขมัน DHA ในเยื่อหุ้มเซลล์ ซึ่งสมองจะทำงานได้ดีก็ต้องอาศัยคุณสมบัติของเยื่อบุผนังเซลล์ส่วนLipid Membrane นี้ เนื่องจากเอนไซม์ (กลุ่ม Desaturase) ในผู้สูงอายุทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงสังเคราะห์กรดไขมัน DHAจากกรดไขมันจำเป็นคือ ALA ไม่พอเพียงกับความต้องการ คนแก่ที่มีกรดไขมัน DHA ต่ำในสมอง จึงคิดช้า ท้อแท้ ว้าเหว่ ความจำไม่แม่น ผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องกินปลาทะเลหรืออาหารเสริมน้ำมันปลาDHA ในการศึกษากับหนูทดลองพบว่า หนูแก่มีเอนไซม์ดีแสททูเรส (Desaturase) ทำงานเพื่อสังเคราะห์กรดไขมัน DHA จากกรดไขมัน ALA เพียง 44 เปอร์เซ็นต์ ของหนูหนุ่ม (Pier L. Biagi , et. al. ค.ศ.1991)
DHA สำคัญต่อสมองและระบบประสาทในทุกกลุ่มอายุ มีรายงานทางวิชาการฉบับหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้กล่าวถึง ตุ่มของเซลล์ประสาท ในสมองของลิงบริเวณ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ว่า ยังคงเจริญงอกงามอยู่เรื่อยมาจนตลอดชีวิตของลิงที่ใช้ทดลองในห้องปฏิบัติการ แต่อย่างไรก็ดี กิ่งก้านของเซลล์ประสาทที่งอก จะลดจำนวนและขนาดลงอย่างมีนัยสำคัญในกรณีถ้าสมองเกิดความเครียด การค้นพบล่าสุดนี้ให้ผลตรงกันข้ามกับความเชื่อในอดีตที่ว่า เซลล์สมองไม่แบ่งตัวอีกภายหลังที่ได้เจริญมาถึงระดับหนึ่ง (บางตำราบอกว่าหลังอายุ 2 ปี เซลล์สมองจะหยุดแบ่งตัว ไม่มีเซลล์เพิ่มขึ้นมาอีก) การที่เกิดมีเซลล์สมองขึ้นมาใหม่ในสมองส่วน Hippocampus นี้ จึงช่วยอธิบายว่า ทำไมกรดไขมัน DHA ซึ่งเป็นอาหารของสมอง (Brain Food) จึงมีหน้าที่สำคัญในการช่วยรักษาสภาพของระบบประสาทและความสามารถเรียนรู้ของผู้สูงอายุให้อยู่ตามปกติไว้ได้ การขาดกรดไขมัน โอเมก้า 3 อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสามารถในการเรียนรู้ เพราะกรดไขมัน DHA เกี่ยวข้องกับระบบสัญญาณของเซลล์ และทำหน้าที่เป็นโครงสร้างสำคัญมากในเซลล์เนื้อสมองสีเทา ในเซลล์เนื้อเยื่อจอภาพลูกตาทั้งของคนและสัตว์ แต่มนุษย์จะได้กรดไขมัน DHAสมบูรณ์ก็ต้องกินโดยตรงจากอาหารหรืออาหารเสริม เพราะร่างกายของคนเรามีความสามารถจำกัดในการสังเคราะห์จากกรดไขมัน ALA เพื่อให้ได้กรดไขมัน DHAขึ้นมาใช้เอง กรดไขมันโอเมก้า 3 มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวด้วยกัน 3 ตัวด้วยกัน ที่เน้นหลักก็คือ กรดไขมัน EPA และกรดไขมัน DHA เท่านั้น ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้วงการวิทยาศาสตร์เรียก น้ำมันปลา โอเมก้า 3 (Omega – 3 Fish Oil) หรือเรียกสั้นๆ ว่าน้ำมันปลา (Fish Oil) สามารถสังเคราะห์ใช้เองได้บ้างในร่างกายมนุษย์ โดยทำมาจากสารตั้งต้นคือ กรดไขมันโอเมก้า 3 ตัวที่หนึ่ง ที่ชื่อว่ากรดไขมัน ALA (Alpha Linolenic Acid) ซึ่งกรดไขมัน ALAตัวนี้ ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นมาใช้เองไม่ได้ จากปลาก็ไม่มี ต้องหามาโดยกินจากพืชเช่น Flax seed (เมล็ด แฟลกซ์) เพราะการที่สร้างขึ้นเองไม่ได้ในร่างกาย นักเคมีจึงได้เติมคำว่าจำเป็น (Essential) ไว้หน้าชื่อกรดไขมัน (Fatty Acid) เรียกใหม่ว่า กรดไขมันจำเป็น (Essential Fatty Acid)
(บทความในเอกสารนี้ ได้มาจากหนังสือ Omega-3 Amazing Fish Oil (มหัศจรรย์น้ำมันปลา) โดยศ.ดร.นพ.สมศักดิ์ วรคามิน)
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊ก >> น้ำมันปลา Fish Oil |
|
|
|