ลืม password | สมัครสมาชิก
วันที่: 2013-04-29 12:12:29.0view 36799reply 0
ประโยชน์จากกล้วย 4 วัย กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่ใกล้ชิดคนไทยที่สุด เด็กไทยสมัยก่อนโตมากับกล้วยน้ำว้ากันทั้งนั้น นอกจาก ข้าวสุกบดแล้ว ก็มีกล้วยน้ำว้าเป็นเหมือนอาหารเสริมประจำที่ไม่ต้องซื้อหาเพราะทุกครัวเรือนมีกล้วยปลูกไว้สำหรับเป็นผลไม้ เป็นอาหารและสารพัดขนมกินกันได้ตลอดทั้งปี การใช้ทำยา/สรรพคุณ/ประโยชน์ ... - กล้วยดิบ มีสารฝาดสมานชื่อแทนนิน ซึ่งช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ช่วยป้องกันผนังกระเพาะลำไส้ไม่ให้เชื้อโรคและของรสเผ็ดจัด เช่น พริก เข้าไปทำลายผนังกระเพาะลำไส้ ช่วยแก้ท้องเสีย วิธีการกินกล้วยเป็นยาก็ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อกินเป็นยาแก้โรคกระเพาะ ควรนำกล้วยดิบมาฝานเป็นแว่นบางๆ แล้วอบให้แห้งที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส ห้ามใช้ความร้อนสูงกว่านี้เด็ดขาด เพราะสารในกล้วยมีฤทธิ์รักษาโรคกระเพาะนั้นจะสูญเสียไปหรือหมดฤทธิ์ไปเลยก็ได้ ถ้าโดนความร้อนสูงมากเกินไป กล้วยดิบที่ผ่านการอบอุณหภูมิต่ำแล้ว ให้นำมาบดเป็นผง กินครั้งละ 1 ช้อนชา จะผสมกับน้ำผึ้งหรือไม่ก็ได้ กิน 3 ครั้งก่อนอาหาร กล้วยดิบๆมีฤทธิ์ทั้งป้องกันและรักษาโรคกระเพาะ ส่วนยาแผนปัจจุบันทุกขนานที่ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารนั้นมีฤทธิ์เพียงป้องกันแต่ไม่ช่วยรักษา กล้วยจึงเป็นยารักษาโรคกระเพาะที่มีราคาถูกที่สุด และหาง่ายที่สุด - กล้วยที่เพิ่งเริ่มสุก(กล้วยห่าม) เปลือกยังสีเขียวอยู่ประปราย เป็นทั้งยาและอาหารที่ดีมากสำหรับคนท้องเสีย เพราะนอกจากจะช่วยแก้ท้องเสียแล้วยังช่วยหล่อลื่นลำไส้ ช่วยเพิ่มกากเวลาถ่าย กล้วยกึ่งดิบกึ่งสุกยังมีธาตุโพแทสเซียมสูงมาก ดังนั้นเวลาใช้กล้วย แก้ท้องเสีย ก็เท่ากับให้ธาตุโพแทสเซียมไปในตัวด้วย ตามธรรมดาคนไข้มักสูญเสียธาตุโพแทสเซียมในเวลาท้องร่วง การกล้วยห่ามจึงเป็นการชดเชยธาตุโพแทสเซียมที่เสียไป เพราะถ้าร่างกายสูญเสียธาตุโพแทสเซียมไปมากๆ ขณะท้องร่วง จะทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติในคนชราอาจทำให้หัวใจวายตายได้ ยิ่งไปกว่านั้นกล้วยที่เริ่มสุกจะมีสารเซโรโทนินอยู่มาก ช่วยออกฤทธิ์ กระตุ้นให้ผนังกระเพาะอาหารสร้างเยื่อเมือกมากขึ้น ช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหาร แต่ไม่ช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร - กล้วยสุก มีสรรพคุณ ตรงกันข้ามกับกล้วยดิบ คือกล้วยสุกกลับเป็นยาระบายแก้ท้องผูก เพราะมีสาร เพ็กติน อยู่มาก ช่วยเพิ่มกากในลำไส้ กล้วยที่สุกงอมมากๆจะมีฤทธิ์ระบายสูง เพราะมีสารเพ็กติน มากขึ้นนั่นเอง ฤทธิ์ระบายของกล้วยน้ำว้าสุกไม่รุนแรงมากต้องกินเป็นประจำวันละ 5-6 ลูก จึงจะเห็นผล อุจจาระที่ออกมาเป็นสีเหลือง ไม่มีกลิ่นเหม็น การกินกล้วยสุกก็ต้องเคี้ยวให้ละเอียด นานๆ เพราะกล้วยเป็นผลไม้ที่มีแป้งอยู่ถึง 20 -25 % ของเนื้อกล้วย จึงสามารถนำมาเป็นอาหารเสริมให้เด็กเล็กได้ ตามปกติ กระเพาะมีเอนไซม์ย่อยแป้งน้อย การเคี้ยวกล้วยให้แหลกละเอียดจะช่วยแป้งได้มากก่อนกลืนลงกระเพาะ หากกินกล้วยโดยเคี้ยวหยาบๆ จะทำให้ท้องอืด จุกแน่น โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ควรเริ่มให้กินกล้วยสุกเมื่อเด็กเริ่มกินข้าวบดได้ อายุราว 3 เดือน โดยขูดเนื้อกล้วยสุก ( ไม่เอาไส้กล้วยเพราะจะทำให้เด็กท้องผูก ) ให้กินคราวละน้อยๆ ไม่ควรเกินครึ่งช้อนชา วันละครั้ง เพราะเด็กยังมีน้ำย่อยแป้งไม่พออาจเกิดอาการท้องอืดได้ เด็กอายุครบขวบกินกล้วยครั้งละ 1 ลูก วันละครั้งก็พอ - กล้วยสุกงอม กล้วยที่สุกเต็มที่จะสร้างสารที่เรียกว่า TNF (Tumor Necrosis Factor) ซึ่งมีความสามารถที่จะไปต่อสู้กับเซลล์ที่ผิดปกติ ยิ่งกล้วยสุกมากเท่าไหร่ ก็จะเกิดจุดสีดำที่เปลือกมากขึ้น ยิ่งมีจุดดำนี้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เกิดภูมิต้านทานมากขึ้น ในการทดลองกับสัตว์โดยศาสตราจารย์ญี่ปุ่นผู้หนึ่งแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ในการเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้จากผลไม้ต่างๆ โดยใช้ กล้วย องุ่น แอปเปิล แตงโม สับปะรด ลูกแพร์ ลูกพลับ ปรากฏว่ากล้วยให้ผลดีที่สุด มันช่วยทำให้เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น เพิ่มภูมิต้านทานของร่างกาย และสร้างสารต้านมะเร็ง TNF คำแนะนำคือให้กินกล้วยวันละ 1-2 ใบเพื่อเพิ่มภูมิต้านทานต่อโรคต่างๆ เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ และอื่นๆ กล้วยทีมีผิวเหลืองและมีจุดดำๆ หลายๆ แห่งจะมีคุณสมบัติในการเพิ่มเม็ดเลือดขาวได้มากกว่ากล้วยที่มีผิวเขียวถึง 8 เท่า นอกจากนี้ เด็กที่มีผิวหนังเป็นตุ่มคันจากยุงกัด มดกัด หรือเป็นผื่นคันเนื่องจากลมพิษ สามารถใช้เปลือกกล้วยน้ำว้าสุกด้านใน ทาถูบริเวณนั้นสักครึ่งนาที รับรองว่าอาการคันจะหายเป็นปลิดทิ้ง นี่เป็นเคล็ดลับภูมิปัญญาไทยที่ใช้กล้วยน้ำว้าเป็นยาสามัญประจำครัวเรือน กล้วยน้ำว้ามีประโยชน์มากมายมหาศาล นอกจากกล้วยที่เป็นผลไม้ อาหาร และสารพัดขนม ใบตองกล้วยยังใช้ทำกระทงใส่ข้าว ของคาว ของหวานแทนถ้วยชาม กาบกล้วยใช้ทำเชือก ซึ่งไม่เคยก่อปัญหาภาวะต่อสิ่งแวดล้อม คนไทยในยุคน้ำมันแพง น่าจะหันกลับมาสร้างค่านิยมปอกกล้วยเข้าปาก เพื่อสุขภาพพลานามัยที่ดีในราคาประหยัด สุดคุ้มเหมือนในยุคปู่ย่า ตายายของเรา ที่มา : วรางคณา เตียงพิทักษ์/bhuttan-whatup.blogspot.com