ลืม password | สมัครสมาชิก
วันที่: 2013-04-25 10:06:02.0view 26587reply 0
ปวดประจำเดือน เรื่อง(ไม่)ธรรมดา (ตอนที่ 1) หากจะถามว่าผู้หญิงมีอะไรที่แตกต่างจากผู้ชายอย่างชัดเจนและถือเป็นลักษณะจำเพาะของเพศหญิงมากที่สุด แน่นอนว่าทุกคนคงต้องนึกถึงการมีประจำเดือนอันดับแรกใช่ไหมล่ะครับ ผู้หญิงบางคนให้ความสำคัญกับการมีประจำเดือนมากเนื่องจากประจำเดือนถือเป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิงเลยทีเดียวก็ว่าได้ ลองคิดดูนะครับ ขนาดสาวประเภทสองที่สวยที่สุดในโลกก็ไม่สามารถลอกเลียนหรือเปลี่ยนแปลงตนให้มีประจำเดือนได้เลยจริงไหมล่ะครับ (ไม่ได้อ้างอิงถึงใครนะครับ อย่าคิดมาก ^^) ...ประจำเดือนของผู้หญิงเป็นกระบวนการทางธรรมชาติ เกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกที่เสื่อมสลายแล้ว เกิดขึ้นเรื่อยๆในแต่ละเดือนแต่หากในรอบเดือนที่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นเยื่อบุโพรงมดลูกจะถูกฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนคงรูปไว้เพื่อให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวและเป็นที่ฝังตัวของทารก ดังนั้นก็จะไม่มีประจำเดือนเกิดขึ้น ถึงแม้ประจำเดือนจะมีข้อดีอย่างที่กล่าวไปแล้วแต่อาการสำคัญที่มักพบร่วมกับการมีประจำเดือนจนทำให้ผู้หญิงบางคนต้องร้องยี้หรือกลัวการมีประจำเดือนไปเลยก็มี นั่นก็คือ อาการปวดประจำเดือน (dysmenorrhea) ... มีผู้หญิงถึงร้อยละ 60 ที่มีอาการปวดประจำเดือนในทุกๆเดือน (ขอย้ำว่าปวดประจำเดือนหมายถึงปวดทุกๆครั้งที่มีประจำเดือนนะครับ ถ้าปวดบ้างไม่ปวดบ้างและไม่สัมพันธ์กับประจำเดือนอาจถือว่าเป็นอาการปวดในอุ้งเชิงกราน ซึ่งสาเหตุแตกต่างกับปวดประจำเดือนครับ) บางคนก็ปวดเล็กน้อยทานยาพาราก็หายปวด บางคนก็ปวดมากจนต้องไปโรงพยาบาลกันเลยทีเดียว เหตุผลที่ระดับความปวดประจำเดือนแตกต่างกันมากเนื่องจากอาการปวดประจำเดือนของบางคนเป็นอาการตามธรรมชาติที่ไม่ได้มีรอยโรคในอุ้งเชิงกรานหรือเรียกว่าแบบปฐมภูมิ (primary dysmenorrhea) แต่บางคนอาจเกิดจากการมีรอยโรคในอุ้งเชิงกรานหรือเรียกว่าแบบทุติยภูมิ (secondary dysmenorrhea) แล้วอาการปวดประจำเดือนเกิดจากอะไร อาการปวดประจำเดือนของคุณถือเป็นโรคหรือไม่ และปวดมากขนาดไหนถึงควรไปพบแพทย์ วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกันครับ หากสมมติว่าคุณมีรอบเดือนสม่ำเสมอทุก 28 วัน และประจำเดือนวันแรกของคุณคือวันที่ 1 ดังนั้นคุณจะมีการตกไข่ในวันที่ 14 ของทุกเดือน (ห่างกัน 2 สัปดาห์) ถูกไหมครับ หลังจากที่เริ่มมีการตกไข่เกิดขึ้นเยื่อบุโพรงมดลูกจะได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของสารชนิดหนึ่งในเยื่อบุโพรงมดลูกที่มีชื่อว่า prostaglandin โดยสารชนิดนี้จะมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนับตั้งแต่วันตกไข่ ดังนั้นความเข้มข้นของprostaglandin นี้ก็จะสูงสุดในเยื่อบุโพรงมดลูกช่วงก่อนมีประจำเดือนนั่นเองครับ เมื่อใกล้ช่วงที่จะมีประจำเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกจะถูกสลายทำให้มีการปล่อยprostaglandin ออกมาจำนวนมากส่งผลให้มดลูกมีการบีบตัวและเพิ่มความไวของเส้นประสาทบริเวณมดลูกทำให้เกิดการปวดประจำเดือนขึ้นหรือพูดง่ายๆก็คือปวดมดลูกนั่นเองครับ ดังนั้นใครที่มีความไม่สมดุลหรือมี prostaglandinมากเกินไปก็จะทำให้ปวดประจำเดือนมากกว่าปกติครับ (การที่มดลูกบีบตัวถือเป็นกลไกของการลดเลือดมาเลี้ยงที่มดลูกและช่วยหยุดประจำเดือนทำให้ไม่เสียเลือดมากเกินไปซึ่งถือเป็นข้อดีนะครับแต่ในขณะเดียวกันก็มีอาการปวดร่วมด้วย) โดยทั่วไปลักษณะปวดประจำเดือนจะเริ่มปวดในวันแรกที่เริ่มมีรอบเดือน โดยจะปวดบีบๆที่ท้องน้อยอาจร้าวไปที่หลังและหน้าขา มีคลื่นไส้อาเจียนได้บ้างแต่มักไม่ถึงขนาดเป็นลม อาจปวดได้จนถึงวันที่ 3 ของการมีประจำเดือน หลังจากนั้นอาการปวดจะหายไป นอกจากนี้อาการปวดมักจะเป็นมากในช่วง 2 ปีแรกของการมีประจำเดือนหลังจากนั้นอาการปวดจะค่อยๆดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ถ้าอาการปวดของคุณเข้าได้กับลักษณะนี้ก็ค่อนข้างวางใจได้ครับว่าเป็นการปวดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ ... ส่วนใหญ่ทานยาพาราร่วมกับการนวดที่ท้องน้อยก็เพียงพอให้หายปวดแล้วใช่ไหมครับ แต่ถ้าใครทานยาพาราไม่หายปวดก็แนะนำยาอีกกลุ่ม คือ mefenamic acid หรือ ponstan ครับ โดยยาดังกล่าวมีฤทธิ์ไปยับยั้งการสร้าง prostaglandinในเยื่อบุโพรงมดลูก จึงถือเป็นการรักษาที่ต้นเหตุเลยครับ แนะนำให้ทาน ในช่วงก่อนมีประจำเดือน 3 วัน ทาน 1 เม็ด หลังอาหารทันที 3 เวลา ทานไปจนถึงช่วงมีประจำเดือน 1-2 วันแรกแล้วก็หยุดทานครับ แต่ต้องระวัง!!! ในคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร และคนที่แพ้ยากลุ่ม NSAID นะครับ (ถ้าไม่แน่ใจมาพบนรีแพทย์ก่อนดีกว่าครับ ^^) แต่หากอาการปวดประจำเดือนของคุณเป็นมากเกินไปก็ต้องระวังเอาไว้ครับว่าอาจเป็นการปวดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ แต่ตอนนี้เป็นเวลาดึกมากแล้วประกอบกับเนื้อหาเยอะพอควร บางคนอ่านจนหายปวดประจำเดือนไปแล้วมั้งครับ 555 งั้นผมขออนุญาตต่อตอนที่ 2 ครั้งหน้านะครับ ให้เพื่อนๆที่ปวดประจำเดือนลองไปรักษาตามคำแนะนำดูก่อน ถ้าไม่หายแล้วจะมาบอกว่าควรทำอย่างไรต่อไป สวัสดีครับ หมอต่อ Credit pict - menstruationresearch.org/wp-content/uploads/2010/03/cramps.jpg-JPEG-Image-300x300-pixels.jpg